เป็นความโชคดีของครอบครัวเรา ที่ได้มาเยือน Tenri University เพราะก่อนจะเดินทางเคยวางแผนกันว่าจะมาที่นี่พร้อมกับกับ นอ.หญิงเนืองนิจ (รามดิลก) มากบุญ เพราะเป็นเมืองที่น้องเล็ก (นันทรัตน์ (รามดิลก) KIKUTA ) ซี่งมาตั้งครอบครัวกับเซนเซ ผู้มีบทบาทและหน้าที่สำคัญหน้าที่สำคัญของศาสนาเทนริเคียว จังหวัดนารา ประเทศญี่ปุ่น
มหาวิทยาลัยเทนริ (Tenri University) ตั้งอยู่เลขที่ 250 Morimedo เมืองเทนริ จังหวัดนารา สร้างโดย Shozen nakayama เมื่อ ค.ศ.1930 มีการจัดการเรียนการสอนภายใต้ปรัชญาคำสอนของศาสนาเทนริเคียว ของเทนริโอ-โนะมิโคโตะ พระผู้เป็นเจ้าโอะยะงะมิ ที่มีคำสอนเป็นปรัชญาว่า ทุกคนเป็นพี่น้องกัน ย่อมช่วยเหลือเกื้อกูลกัน สร้างโลกและชีวิตให้มีความสุขแล้วช่วยกันทำให้โลกมีสันติภาพ รู้รักสามัคคี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน โดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ศาสนาเทนริเคียวทั่วโลกมีราวสองล้านกว่าคน ในทุกๆ ปี จะมารวมตัวกันที่ “ จิบะ” เพื่อปฏิบัติศาสนกิจ องค์กรเทนริเคียว เป็นศาสนามี่มีพลังในการสร้างให้ผู้เลื่อมใสศรัทธาเป็นจิตอาสา เป็นนักสงเคราะห์ ใส่ใจและให้ความสำคัญกับการทำงานเพื่อสร้างสรรค์ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ สถานเลี้ยงเด็กกำพร้า ฯลฯ ในเมืองไทยก็ยังมีศูนย์ของศาสนาเทนริเคียว าตั้งอยู่ที่ซอยลาดพร้าว 69 บางกะปิ กรุงเทพฯ
น้องเล็กและเซนเซ พาเราสองคนไปชมห้องสมุดซึ่งมีสถาปัตยกรรมเป็นทรงแบบยุโรปเก่าแก่ที่มีประวัติความเป็นมาเคียงคู่กับการก่อตั้งศาสนา เป็นอาคารที่ดูภูมิฐาน คลาสสิก สวยงาม ด้านในมีห้องโถงกว้าง ชั้นบนตกแต่งด้วยไม้เนี้อแข็งทุกชั้นดูเข้มขลังทรงพลังของแหล่งเรียนรู้อันล้ำค่า มีห้องที่จัดเก็บหนังสืออนุรักษ์มากมายหลายห้อง ดูเป็นหมวดหมู่ มีระบบระเบียบ และที่นี่ก็มีกฏเหมือนกับห้องสมุดที่อื่นๆ คือ ห้ามถ่ายภาพ พวกเราได้รับความเมตตาจากเซนเซและน้องเล็กที่สละเวลาพาเราเดินชมทั่วทุกมุมห้อง ได้ถ่ายภาพบางมุมไว้เป็นที่ระลึก ถือเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ทำให้เราได้มีโอกาสมาเยือนห้องสมุดแห่งนี้ ทั้งที่ไม่มีอยู่ในกำหนดการและไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะได้มาพบห้องสมุดที่ล้ำค่าแห่งนี้ เราประทับใจเกินกว่าจะหาคำบรรยาย ได้แต่คิดอยู่ในใจว่าจะเก็บรักษาของที่ระลึกที่ญาติของเซนเซ ผู้ซึ่งทำหน้าที่แผนกหนึ่งในห้องสมุด นำมามอบให้เป็นของที่ระลึก หลังจากที่ใช้เวลาหลายชั่วโมงอยู่ในห้องสมุด เซนเซและน้องเล็กพาเราไปที่ พิพิธภัณฑ์เทนริ ที่สร้างขึ้นโดยองค์กร ศาสนาเทนริเคียว เป็นอาคารสูงกว้างใหญ่และมีหลายชั้น ตั้งอยู่บริเวณมหาวิทยาลัยเทนริ จุดประสงค์เพื่อให้ผู้ชมได้เรียนรู้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ต่างๆ ทั่วโลก ด้วยการจัดเก็บที่เป็นระบบ ด้วยสัดส่วนพื้นที่ที่ลงตัว สวยงาม มีทั้งวัตถุโบราณ สิ่งของเครื่องใช้ของชาติพันธุ์ต่างๆ ข้อมูลและสิ่งของที่เกี่ยวกับชาติพันธุ์ ก็มีความชัดเจนทั้งเอกสารแนะนำและการใช้เทคโนโลยีที่ใช้นำเสนอ ตัวอาคารด้านนอกมีความสวยงาม คลาสสิกแบบสถาปัตยกรรมญี่ปุ่นดั้งเดิม สร้างมาเกือบศตวรรษ ภายในมี มี 3 ชั้น ผู้เขียนคิดถึงพิพิธภัณฑ์จ่าทวี เมืองพิษณุโลก ภูมิปัญญาและความคิดของครอบครัวจ่าทวี ที่ช่วยกันสร้างสมบัติล้ำค่าไว้ให้ลูกหลาน ผู้เขียนรู้สึกภาคภูมิใจและมักพูดให้ลูกศิษย์เกิดความคิดและแรงบันดาลใจ ในการศึกษารากเหง้าของบรรพบุรุษพร้อมกับความคิดในการอนุรักษ์และสืบสาน พิพิธภัณฑ์เทนริ มีรูปแบบการจัดพิพิธภัณฑ์ได้ดีอย่างผู้เขียนคาดไม่ถึง รู้สึกนับถือความพยายามของชาวญี่ปุ่น เป็นเพราะประชากรของประเทศญี่ปุ่นมีคุณภาพและเอาจริงเอาจัง มีระเบียบวินัยกับงาน จึงสามารถสร้างพิพิธภัณฑ์ได้ดีงามขนาดนี้ มีพิพิธภัณฑ์ที่โตเกียวและเกียวโตอีกหลายที่ที่ผู้เขียนอยากเข้าไปบันทึกภาพ แต่เขาห้ามจึงได้แต่เก็บไว้เพียงความประทับใจไม่รู้ลืม หากคนรุ่นใหม่ของบ้านเราได้มาท่องเที่ยวญี่ปุ่นเพื่อศึกษาดูงานด้านนี้ น่าจะได้นำความคิดและตัวอย่างแล้วนำกลับไปบริหารการจัดการพิพิธภัณฑ์บ้านเรา ก็จะทำประเทศชาติของเราได้มีแหล่งเรียนรู้ที่จะสามารถสนับสนุนและส่งสเริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมต่อไป
หลังจากได้ชมห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์แล้ว น้องเล็กพาพวกเราไปที่อาคาร จิบะ เพื่อนำชมและสวดมนต์ขอพรให้สองเราไม่ให้มีโรคภัยไข้เจ็บ ขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ช่วยปกปักรักษา อาคารจิบะทำด้วยไม้เกือบทั้งอาคาร พื้นไม้ขัดมันเป็นเงาวับ ทั้งสะอาดและสวยงาม ท่าทางการสวดมนต์ที่ปรบมือเป็นจังหวะค้อมศีรษะคารวะต่ำลง ช่างเรียบง่ายงดงาม จรรโลงใจยิ่งนัก
หลังจากที่เพลิดเพลินกับความสวยงามของศูนย์เทนริเคียวและได้รับความรู้ใหม่ๆเกี่ยวกับศาสนาเทนริเคียวจากน้องเล็กแล้ว ลูกสาวและหลานชายตัวเล็กๆเพิ่งหัดเดินของคุณย่า(น้องเล็ก) พากันมาส่งพวกเราเพื่อให้เลือกซื้อของที่ที่ระลึกบริเวณย่านการค้าที่อยู่เลยออกมาจากบริเวณนั้นไม่ไกลนัก ย่านการค้าแห่งนี้เป็นแนวยาวลึก มีหลังคาคลุมตลอดแนว ยาวทะลุไปถึงถึงทางออกไปสู่สวนสาธารณะ มีร้านค้าริมทางเดินทั้งสองด้านดูเรียบร้อย สะอาด สวยงาม มีเอกลักษณ์ของชาวญี่ปุ่นแทรกอยู่ทุกร้าน มีสินค้านำเสนอหลากหลายทั้งข้าวของเคร่องใช้ กระเป๋า รองเท้า เสี้อผ้า ราคาไม่แพงนัก เราได้ซี้อของที่ระลึกสัญลักษร์ของศาสนาเทนริเคียวกลับมาหลายชิ้น มีร้านขนมไส้ถั่วแดงรสอร่อยเจ้าเก่าที่น้องเล็กซื้อให้เราสองแม่ลูกได้ลองชิม แค่คนละอันก็อิ่มแปล้ไปเลย น้องเล็กเดินมาส่งพวกเราถึงสถานีรถไฟ คิดอยู่ในใจว่าคนไทยอยู่บ้านไหนเมืองไหนก็เอื้ออาทรกับคนไทยด้วยกันเหมือนญาติสนิท และที่นี่ถือเป็นที่สุดของทริปนี้ ถ้ามีโอกาสตั้งใจจะกลับมาเยือนที่นี่อีกสักครั้ง กลับมาเพื่อชื่นชมห้องสมุดที่ไม่เคยคิดเคยฝันว่าจะได้มาพบแห่งนี้ ภาพทุกภาพที่ได้มาทำบันทึกไว้ถือเป็นของฝากชิ้นสำคัญที่ให้กับญาติมิตรลูกศิษย์และผู้สนใจทางเมืองไทยไทย พร้อมกับบันทึกย่อๆที่มีสาระมาจากประสบการณ์ตรงบันทึกนี้ .
Leave a Reply