ห้องสมุดในสิงคโปร์ The library@esplanade

ในการเดินทางเยี่ยมชมห้องสมุดของเรา คือการค้นหาวัฒนธรรมการอ่านของคนในแต่ประเทศ สิงคโปร์ก็เช่นกัน หลังจากที่เราเยี่ยมชมห้องสมุดทั่วไปที่สร้างดักประชาชนให้เข้าใช้ทั่วทุกมุมเมือง ทุกห้องสมุดมีหนังสือหลากหลายเหมาะกับผู้ใช้งานทุกเพศทุกวัย แม้แต่ในห้างสรรพสินค้า วันนี้หลังจากได้เที่ยวชมร้านหนังสือ ร้านขายเครื่องดนตรีที่ตกแต่งร้านได้สวยงามทันสมัยแล้ว เราก็ได้มาแวะเยี่ยมชมห้องสมุดที่มีหนังสือเฉพาะทางอย่างที่ตั้งใจไว้ คือ The library@esplanade ซึ่งเป็นห้องสมุดที่เน้นหนังสือด้านศิลปะการแสดงและดนตรีโดยเฉพาะ

The library@esplanade ตั้งอยู่บนชั้น 3 ของโรงละคร Esplanade โรงละครที่มีอาคารทรงโดมหนามที่คนท้องถิ่นเรียกกันติดปากว่า “โดมทุเรียน” ซึ่งทรงหนามของอาคารนี้ไม่ได้เป็นแค่หนามธรรมดา แต่ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นม่านการปรับทิศทางแสงเข้าอาคารอย่างชาญฉลาด (หากสนใจ สามารถชมต่อได้บนยูทู้ป : https://youtu.be/48LYd6HfF54 )

ทางเข้าห้องสมุด เมื่อมองเข้าไปจะเห็นความโปร่งกว้างของห้องสมุด ดูน่าใช้งาน

ห้องสมุดนี้เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2002 ภายในแบ่งออกเป็น 4 โซนใหญ่ๆ คือ ดนตรี ภาพยนต์ ละครเวที และการเต้น ห้องสมุดนี้ไม่เพียงแต่ให้บริการหนังสือเกี่ยวกับการแสดง แต่ยังให้บริการห้องซ้อมดนตรี ห้องซ้อมเต้น และห้องฉายภาพยนต์อีกด้วย (โดยมีค่าใช้บริการเป็นรายชั่วโมง)

ห้องซ้อมเต้นมีพื้นที่กว้างขวาง และมีชั้นวีดีโอเกี่ยวกับการเต้นให้สามารถเปิดชมได้
ในโซนภาพยนต์ มีDVD ที่สามารถหยิบไปเปิดชมได้ในพื้นที่ที่จัดไว้ หลายเรื่องเป็นหนังเก่าที่หาไม่ได้อีกแล้ว
โซนหนังสือดนตรี มีทั้งประวัติศาสตร์และหนังสือภาพ(Artbook)
Artbook ของภาพยนต์มิวสิคคัล
ที่เป็นของสะสมของลูกสาว

ผู้ใช้งานห้องสมุดนี้ส่วนมากจะเป็นหนุ่มสาวและวัยรุ่น เนื่องจากห้องสมุดนี้เป็นห้องสมุดเฉพาะทาง จึงไม่มีโซนสำหรับเด็กเหมือนห้องสมุดตามชุมชนในสิงคโปร เป็นบรรยากาศที่ค่อนข้างแตกต่างจากการเยี่ยมชมอื่นๆ หากใครชื่นชอบในดนตรีและการแสดงรับรองว่าต้องเผลอติดอยู่ในห้องสมุดนี้เป็นชั่วโมงแน่นอน ดังเช่นลูกสาวที่เป็นคนพามา บอกว่าจะใช้เวลาแค่ไม่นานนะ แต่เอาเข้าจริงก็เผลออ่านหนังสือประวัติศาสตร์มิวสิกคัลอยู่นานเลยทีเดียว ถือเป็นการพักเท้าจากการเดินทางไกลไปด้วยในตัว

ในยุคที่ความรู้ส่วนมากหาได้จากอินเทอร์เน็ต การเยี่ยมชมห้องสมุดแต่ละที่ ทำให้ได้เห็นการปรับตัวของห้องสมุดตามยุคสมัยเช่นกัน ทั้งการเปิดให้ใช้งานในฐานะ Co-working space ที่ใช้ทำงานและค้นคว้าร่วมกัน หรือในฐานะ Creative Space ที่ใช้เพื่อฝึกฝนทักษะบางอย่างได้ และในฐานะ Museum ที่เก็บประวัติศาสตร์ล้ำค่าในรูปแบบของสื่อสิ่งพิมพ์ ดังเช่นห้องสมุดในสิงคโปรเอง ก็มีความหลากหลายในการใช้งานสอดคล้องกับความต้องการของสังคมเช่นกัน เป็นพื้นที่สาธารณะที่มีคุณค่ามากกว่าการเก็บข้อมูลในรูปแบบสื่อสิ่งพิมพ์ และเปิดกว้างให้กับทุกคนได้ใช้งานอย่างแท้จริง

About ครูกิติยา 95 Articles
ครูส่งเสริมการอ่าน

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*