ลำน้าน่านที่ไหลผ่านพิษณุโลก แบ่งเมืองฝั่งตะวันออกแลฝั่งตะวันตกทำให้เมืองสองแคว ถูกเรียกว่าเมืองอกแตกมาแต่อดีต แม้ชื่อนี้คนรุ่นใหม่จะไม่คุ้นชินกับการเรียกขานนัก (เพราะฟังแล้วไม่ไพเราะกระมัง) ย้อนหลังไปราว 20 ปี สองฝั่งน่านมีเรือนแพเรียงรายสุดสายตา ริมตลิ่งทั้งสองฝั่งชาวบางช่วงเขียวขจี สวยงามด้วยชาวแพพากันปลูกพืชผักสวนครัว(ปลอดสารเคมี) ดูช่างเป็นวิถีที่งดงาม พอเพียง วันไหนที่ได้มีโอกาสได้ไปเดินเล่นริมน้ำน่าน เห็นเรือนแพแล้วฮัมเพลงอมตะ ของคุณชรินทร์ นันทนาคร ไปด้วยแล้ว เหมือนจะทำให้ความงดงามของเรือนแพยิ่งงดงามมากขึ้นในจิตสำนึก เสียดายที่ไม่ได้บันทึกภาพเรือนแพในอดีตไว้เป็นสมบัติของตนเองเลย วันนี้เลยนำภาพเมืองสองแควยามค่ำคืนที่บันทึกไว้เมื่อไม่นานมาบันทึกไว้ เพราะทุกภาพทำให้คิดถีงภาพในอดีตที่งดงามยิ่งกว่า … ภาพในคืนวันเพ็ญเดือนสิบสอง หน้าวัดใหญ่ที่ชาวพิษณุโลกมากราบไหว้พระพุทธชินราชในคืนเดือนเพ็ญก่อนจะลงไปริมตลิ่งเพื่อลอยกระทงขอขมาพระแม่คงคาสองฝั่งน่าน เป็นภาพวิถีชาวพุทธเมืองพระงามที่งดงามอยู่ในความทรงจำตลอดมา ผู้เขียนคิดถึงภาพเมื่อครั้งมีเรือนแพอยู่สองฝั่ง มีเรือนแพของลูกศิษย์เก่าชาวแพหลายคนที่ตั้งใจจะเชิญชวนให้ครูลงไปลอยกระทงที่ริมเรือนแพของเขา (บริการลงแพเพื่อลอยกระทง ท่านละ 5 บาท) การที่ศิษย์ได้มีโอกาสให้ครูใช้บริการฟรี ดูเป็นความภาคภูมิใจที่สัมผัสได้ด้วยรอยยิ้มและแววตา และเมื่อมาถึงโรงเรียนในเช้าวันรุ่งขึ้นก็จะมีเสียงรำพึงรำพันน้อยใจให้ได้ยินเกือบทุกปีว่า…..ครูทำไมไม่ไปลอยกระทงที่แพหนู ปีหน้าต้องไปนะ …
วันนี้แม้จะมีเพียงความทรงจำ แต่บันทึกนี้เป็นบันทึกแห่งความคิดถึงภาพที่สวยงามของศิษย์เก่า (ซึ่งเติบโต มีครอบครัวใหม่ และย้ายไปอยู่ที่อื่นหมดแล้ว ตั้งแต่เทศบาลย้ายแพขึ้นบก) ภูมิทัศน์ริมน้ำน่านเปลี่ยนไป มีภาพสวยงามใหม่ๆมาแทน แต่ภาพเก่าที่สวยงามในใจยามค่ำคืนที่ริมน่านเมืองสองแคว ไม่เคยลบเลือนไปจากใจ เสียงสวยๆ ดวงตาใสๆ และหัวใจที่บริสุทธิ์ของลูกศิษย์ในคืนเดือนเพ็ญ ก็ยังคงงามเด่นอยู่เช่นนั้น…..และทุกค่ำคืนที่ริมน่านเมืองสองแควก็จะยังคงมีภาพที่งดงามตลอด
Leave a Reply