นกกะรางหัวขวาน

  • 15844
    15843
    15842
นกกะรางหัวขวาน

ลักษณะทั่วไป

เป็นนกที่มีขนาดเล็ก (29-30 เซนติเมตร)ตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะและสีสันเหมือนกัน ปากสีดำบริเวณหัว คอ และอกเป็นสีน้ำตาลแดง ตามลำตัว และปีกมีทางพาดสีดำสลับสีขาวแกมเหลือง หางสีดำมีทางพาดสีขาวแกมเหลืองบริเวณโคนหาง ขนที่ยาวออกไปจากหัวสีเหลือง ปลายขนสีดำ

อุปนิสัยและอาหาร

เป็นนกที่มีกิจกรรมต่างๆในตอนกลางวัน พบอาศัยและหากินตามสวนผลไม้ ป่าละเมาะ ป่าโปร่งต่างๆเช่น ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าไผ่ ตั้งแต่พื้นราบจนกระทั่งความสูง 1,500 เมตร จากระดับน้ำทะเล ปรกติพบอยู่โดดเดี่ยว เป็นคู่ หรือเป็นฝูงเล็กๆ มักเกาะตามกิ่งไม้ หรือลำต้นของต้นไม้ พบเป็นประจำที่เดินตามพื้นดิน หรือทุ่งหญ้า เป็นนกที่บินได้ดี แต่มักบินช้าและเป็นรูปคลื่น ในขณะที่บินหรือเกาะกิ่งไม้เพื่อพักผ่อนขนบริเวณหัวจะลู่ลงมาด้านหลัง ลักษณะเป็นกระจุกแหลม แต่เวลาหากิน ตกใจ หรือเวลาแสดงพฤติกรรมการเกี้ยวพาราสี ขนบริเวณหัวจะตั้งแผ่ออกลักษณะคล้ายรูปพัด หรือขนบนหมวกของหัวหน้าเผ่าอินเดียนแดง นกกะรางหัวขวานร้องเป็นเสียงต่ำ ออกเป็นเสียง “ฮูป-ฮูป-ฮูป” หรือ “ฮูป-ปู-ปู” จะร้อง 2-3 พยางค์ต่อครั้ง ร้องติดต่อกันโดยทิ้งช่วงระยะเวลาเล็กน้อย นกกะรางหัวขวานกินแมลงต่างเป็นอาหาร โดยเฉพาะตัวหนอน ดักแด้ และตัวอ่อนของแมลงเช่น จิ้งหรีด ด้วง ตั๊กแตน มด ปลวก นอกจากนี้ยังกินพวกไส้เดือนต่างๆอีกด้วย ปรกติจะหาอาหารตามพื้นดิน โดยใช้ปากที่ยาว โค้ง เรียว ชอนไชไปตามดิน รูดิน รากหญ้า ขอนไม้ ใต้ใบไม้ หรือใต้หิน เมื่อพบเหยื่อก็จะคาบออกมาแล้วกลืนกินเข้าไป เมื่อมีสิ่งรบกวน หรือตกใจจะบินขึ้นไปเกาะตามกิ่งไม้ บางครั้งนกกะรางหัวขวานก็หาอาหารตามกิ่ง และลำต้นของต้นไม้ โดยใช้ปากชอนไชไปตามรอยแตกของเปลือกไม้ หรือตามโพรงของต้นไม้ และเนื่องจากมีลิ้นสั้นมาก การหาเหยื่อจึงใช้เฉพาะปากจิกเท่านั้น ไม่ได้ใช้ลิ้นช่วยตวัดเหยื่อแต่อย่างใด

 

การผสมพันธุ์

ผสมพันธุ์ในช่วงฤดูหนาวต่อฤดูร้อน หรือระหว่างเดือนมกราคม-เมษายน ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวจะพบนกเป็นคู่ๆ และได้ยินเสียงร้องของนกเป็นประจำ ซึ่งเป็นอาการอย่างหนึ่งของพฤติกรรมการเกี้ยวพาราสี นกกะรางหัวขวานทำรังตามโพรงของต้นไม้ ซึ่งเป็นโพรงที่เกิดตามธรรมชาติ หรือโพรงของสัตว์อื่นทำทิ้งเอาไว้ ปรกติเป็นโพรงที่ไม่สูงจากพื้นดินมากนัก นกกะรางหัวขวานที่อาศัยอยู่ตามสวนผลไม้พบประจำที่ทำรังตามโพรงของต้นมะพร้าวมากกว่าต้นไม้อื่นๆ ภายในโพรงปรกติไม่มีวัสดุใดๆรองอีก ไข่มีลักษณะเป็นรูปรียาว ขนาดโดยเฉลี่ย 17.0 x 24.4 มิลลิเมตร ไข่สีฟ้าอ่อน ไม่มีจุดหรือลายใดๆ ในแต่ละรังมีไข่ 4-5 ฟอง ทั้ง 2 เพศช่วยกันเลือกสถานที่ทำรัง และ ฟักไข่ โดยจะเริ่มฟักหลังจากออกไข่ฟองสุดท้ายแล้ว ระยะเวลาฟักไข่ทั้งสิ้น 14-16 วัน ลูกนกที่ออกจากไข่ใหม่ๆ ยังไม่ลืมตา ไม่มีขนปกคลุมร่างกาย พ่อแม่ต้องช่วยกันกก และหาอาหารมาป้อน ลูกนกอายุ 3-4 สัปดาห์จะแข็งแรง และบินได้ จากนั้นก็จะทิ้งรังไป

 

สถานภาพ

กฎหมายจัดเป็นนกกะรางหัวขวานทุกชนิดย่อยสัตว์ป่าคุ้มครอง

 

ที่มา

หนังสือชุดนกในเมืองไทย เล่ม 1 โดย รศ. โอภาส ขอบเขตต์.

About ครูกิติยา 95 Articles
ครูส่งเสริมการอ่าน

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*